วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak
) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท
วันวิสาขบูชานั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"  ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก(ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตรการฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน
 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาในพุทธประวัติ

วันประสูติ

เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส โดยพระพุทธเจ้าหรือพระนามเดิม "เจ้าชายสิทธัตถะ" ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะศากยราชา ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และ พระนางสิริมหามายา ศากยราชเทวี ผู้เป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป
                  ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ภายในพระราชอุทยานลุมพินีวัน
จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[5] พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า[7]
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.
อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.
คำแปล : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้
 สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371
โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน

วันตรัสรู้

เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล"

การออกผนวช

(ตามนัยอรรถกถา)หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะหนีออกจากพระราชวัง ทรงตัดพระเมาฬีที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีเพื่ออธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า

...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!
 สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด
 สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316

นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด
 สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...
 สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489

ตรัสรู้

แสวงหาอาจารย์

เมื่อทรงออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ เช่น สำนักอาฬารดาบส รามบุตร[11] และสำนักอุทกดาบส รามโคตร ได้บรรลุสมาบัติ 8 สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง 8 นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้

บำเพ็ญทุกกรกิริยา

พระพุทธรูปพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาไม่เสวยพระกระยาหารจนพระวรกายผอมเหลือถึงกระดูก ภายในถ้ำดงคสิริ
ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ "ทุกกรกิริยา"คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว 5 วันหลังจากประสูติ) ว่า "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก" เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
วันตรัสรู้
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปีนางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา
จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ)8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า
...หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย...
 สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปญิจมสุตฺต กมฺมกรณวคฺค ทุก. อํ 20/64/251
ที่มา: www.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น