วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

วิถีชีวิตของคนชนบท

วิถีชีวิตของคนชนบท
                   ความยากจนที่เกิดกับคนชนบทในแต่ละภาคนั้น คนชนบทได้มีการช่วยเหลืองตนเองให้อยู่รอด ด้วยการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยการโยกย้ายออกจากท้องถิ่น มารับจ้างทำงานในเขตที่มีความเจริญ เช่น ในเขตเกษตรก้าวหน้า โดยการรับจ้างทำงานในไร่นา ในปัจจุบันประเพณีดั้งเดิมของคนชนบท ที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการดำนา และเกี่ยวข้าว ที่เรียกกันว่า "ลงแขก" คือ เพื่อบ้านช่วยกันทำงานในไร่นาซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา โดยไม่คิดค่าจ้างแต่อย่างใดนั้น ได้เลิกไปแล้วเกือบทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตต้องอาศัยเงินมากขึ้น จึงต้องทำโดยการรับจ้าง ส่วนบางคนก็เข้าสู่ตัวเมือง หรือกรุงเทพฯ แล้วทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ทอผ้า ผลิตอาหารกระป๋อง หรือการรับจ้างทั่วไป ในร้านอาหาร ภัตตาคาร บ้าน ที่อยู่อาศัย หรือเป็นกรรมกรแบกหาม ขับรถรับจ้าง ฯลฯ คนชนบทจึงเข้าปะปนกับคนเมือง วิถีชีวิตของคนชนบทก็ค่อยๆ ปลี่ยนไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมของเมือง ดำเนินชีวิตแบบคนเมือง เช่น ฟังวิทยุ และมีการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยมากขึ้น การกินอยู่ก็ได้กินอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น เครื่องใช้ เช่น พัดลม และวิทยุ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขามากขึ้น ความนิยมในเพลงลูกทุ่ง เริ่มเข้าแทนที่การละเล่นพื้นบ้าน เช่น หมอลำ โปงลาง หรือลิเก
               ในขณะเดียวกันความเป็นอยู่ของคนเมืองจะได้รับการนำเข้าไปสู่ชนบท เมื่อมีถนนและไฟฟ้าเข้าถึงท้องถิ่นชนบทนั้น คนชนบทที่มีฐานะดีพอสมควรก็มีความต้องการสิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องอำนวยความสะดวก เช่นเดียวกับที่คนในเมืองใช้ เช่น ใช้เตารีดไฟฟ้าแทนเตารีดถ่าน นุ่งกางเกงยีนส์ แทนการนุ่งกางเกงชาวนา หรือผ้าถุง สวมรองเท้า ไม่เดินเท้าเปล่า สูบบุปรี่มวนแทนยาเส้น หุงข้าวทำกับข้าว โดยใช้เตาถ่าน ที่ฐานะดีหน่อยก็ใช้เตาแก๊ส ใช้รถจักรยานยนต์แทนจักรยาน รู้จักการใช้ส้วมซึมแทนส้วมหลุม เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาหมอที่สถานีอนามัย โรงพยาบาล หรือคลินิก ฯลฯ

แต่ก็ยังมีชนบทที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง ห่างไกลจากความเจริญ วิถีการดำเนินชีวิตก็ยังเป็นแบบเดิม เนื่องจากความยากจน ซึ่งปรากฏอยู่ในภาคต่างๆ ดังกล่าวไว้แล้ว คนชนบทยากจนเหล่านี้ ไม่มีรายได้เหลือพอที่จะซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่อาหารการกิน ที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็อาศัยสมุนไพร เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากสถานีอนามัย การดำรงชีวิตของเขาจะพึ่งธรรมชาติเป็นสำคัญ การทำการเกษตรเป็นแบบพึ่งน้ำฝน ปีใดฝนไม่ตกตามฤดูกาล ปีนั้นพืชผลก็เสียหาย ทำให้ไม่มีข้าวพอกิน พืชผล เช่น ปอ ข้าวโพด เสียหาย รายได้จากการขายพืชผลเหล่านี้ก็ลดลง เงินที่จะไปซื้อข้าวปลาอาหารก็น้อยลง ต้องได้รับความอดอยากขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อชีวิตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนชนบทเอง และคนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือกัน และให้ความช่วยเหลือ ให้ชนบทยากจนส่วนนี้ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความพออยู่พอกิน ไม่ต้องอดอยากหิวโหยต่อไป เพราะคนชนบทยากจนเหล่านี้ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ยังอ่อนแอ ประเทศชาติก็จะขาดความมั่นคง




ศาสนาในประเทศไทย

ศาสนาในประเทศไทย
ศาสนาในประเทศไทยที่รัฐบาลให้ความอุปถัมภ์ มีทั้งหมด 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ทุกศาสนามีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ ๆ 5 ประการ คือ ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนิก ศาสนสถาน และศาสนพิธี
1. ศาสดา หมายถึงองค์ศาสดาที่มีตัวตนอยู่จริง สามารถตรวจสอบยืนยันได้ทางประวัติศาสตร์ ฐานะของศาสดาจะเป็นที่เคารพสักการะของศาสนิกชน 
2. ศาสนธรรม เป็นผลสืบเนื่องมาจากศรัทธา หรือ สืบเนื่องมาจากปัญญาของศาสดา ศาสนิกชนนับถือในฐานะสิ่งสูงสุด จะต้องให้ความเคารพสักการะ เทอดทูน แม้แต่ตัวคัมภีร์ที่ใช้จารึกคำสอน
3. ศาสนิกชน คือ ปวงชนที่ให้การยอมรับนับถือในคำสั่งสอนศาสนา นั้น ๆ ปกติมี 2 ประการหลัก คือ นักบวชและผู้ครองเรือน หรือบางศาสนาแม้จะไม่มีนักบวช แต่มีคนทำหน้าที่ฝึกอบรม สั่งสอนศาสนิก
4. ศาสนสถาน ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนักบวช การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จนถึงเป็นที่รวมองค์ประกอบหลักของศาสนาทั้งหมดในศาสนสถาน ฐานะ ของศาสนสถานจึงเป็นสมบัติของศาสนา
5. ศาสนพิธี พิธีกรรมที่ถูกกำหนดขึ้นจากศาสดาโดยตรง หรือศาสนิกคิดค้นขึ้น มีเนื้อหาโดยสรุปคือ มุ่งขจัดความไม่รู้ ความกลัว ความอัตคัด สนองตอบความต้องการในสิ่งที่ตนขาดแคลนจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ค้นคว้าปฏิบัติตามหลักของศาสนา 
แม้ประเทศไทยจะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทางราชการได้ให้ความสำคัญด้านศาสนามาก ดังจะเห็นได้จากการกำหนด วันหยุดราชการในวันศาสนพิธีสำคัญ ๆ คือวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ในส่วนของศาสนาอื่นนั้นรัฐบาลก็ได้เอื้อเฟื้อต่อคนไทยที่นับถือ ศาสนานั้น ๆ และให้ความอุปถัมภ์ตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ไว้ ซึ่งได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ และในวันสำคัญของศาสนาอื่น ๆ ศาสนิกชนก็สามารถปฏิบัติ พิธีกรรมทางศาสนาของตนเองได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการให้องค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทย รายงานบทนี้จึงขอเสนอประวัติความเป็นมาของแต่ละศาสนา โดยสรุปพอสังเขปดังต่อไปนี้
1 ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธถือกำเนิดในประเทศอินเดียก่อนพุทธศักราช 45 ปี (พุทธศักราชเริ่มตั้งแต่ปีพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน) ซึ่งนับว่าเป็นศาสนาที่สำคัญที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง มีผู้นับถือหลายร้อยล้านคนโดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในประเทศไทย พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้ามาสู่ ดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ในเขตประเทศพม่า และประเทศไทย ในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
พระศาสดาผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ในขณะที่ทรงพระเยาว์ก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักต่าง ๆ หลายสำนัก จนกระทั่งมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญในวิชาการต่าง ๆ หลายสาขา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ 16 พรรษาทรงอภิเษกสมรสกับเจ้า หญิงยโสธรา มีพระโอรสหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าชายราหุล ในชีวิตฆราวาสของพระองค์มีแต่ความสุขสมหวัง ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา ก็ทรงเบื่อหน่ายโลก เพราะทรงเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร และทรงหวังจะช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ จึงได้ทรงสละความสุขทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นพระราชทรัพย์ พระโอรส พระมเหสี พระบิดาพระมารดา ญาติพี่น้องและมิตรสหายออกบวช เพื่อหาทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ทรงผนวชอยู่จนกระทั่งมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา จึงได้ตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คือ รู้แจ้งสัจธรรมแห่งโลก เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยคำว่า " พุทธ " หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดสัตว์ สั่งสอนประชาชนตามแคว้น ต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย เป็นเวลา 45 ปี ปรากฎว่าชาวอินเดียในสมัยนั้นได้หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนา และเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่จนกระทั่งมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา จึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย
คำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการบันทึกไว้เป็นพระคัมภีร์ เรียกว่า พระไตรปิฎก มีความยาว 84,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น 3 คัมภีร์ คือ คัมภีร์พระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่อง วินัย ศีล สำหรับให้พระภิกษุ สามเณร ปฏิบัติ นอกจากนี้คัมภีร์พระไตรปิฏกยังกล่าวถึงศีลเบื้องต้น และการกำหนดกฏเกณฑ์ ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่นเรื่อง การอุปสมบท การผูกพัทธสีมา เป็นต้น คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก เป็นคัมภีร์พระสูตร กล่าวถึงหลักธรรมต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า คัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก กล่าวถึงธรรมชั้นสูง หรือปรมัตตสัจจะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ 
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าที่รวบรวมได้จากการประชุมคณะสงฆ์ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วประมาณ 1 ศตวรรษ มีดังนี้ 
1. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
2. อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
3. ปฏิจจสมุปปาท
4. อริยมรรค 8
5. นิพพาน
คำสอนด้วยมรรค 8 เป็นคำสอนให้ดับทุกข์ทั้งปวง ย่อลงมาได้เป็นไตร สิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีดังนี้
1. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ คือ ศีล
2. สัมมาวาจามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ คือ สมาธิ
3. สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ คือ ปัญญา
ความหมายในการศึกษา ของ ไตรสิกขา ซึ่งเป็นสุดยอดการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา คือ
1. ศีล คือการฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม ทางกาย และวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเกิดผลดี
2. สมาธิ คือ การฝึกฝนพัฒนาในด้านจิตใจ เนื่องจากพฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความตั้งใจ ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาให้ดีงามแล้ว ก็จะควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย
3. ปัญญา คือ การพัฒนาปัญญา เพราะปัญญาเป็นตัวนำทางและควบคุมพฤติกรรมทั้งหมด เป็นตัว ปลดปล่อยจิตใจ ให้ทางออกแก่จิตใจที่โล่งและเป็นอิสระ
หัวใจพระพุทธศาสนา 3 ประการ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ณ พระเวฬุวัน หลังจากตรัสรู้เพียง 9 เดือน และทรงแสดงปฐมเทศนาเพียง 7 เดือน ก็ทรงสรุปรวมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ฝ่ายของมรรคกับนิโรธ ซึ่งถ้าใครปฏิบัติตามที่แสดงไว้ ทุกข์กับสมุทัย ก็หมดไป กล่าวโดยสรุปรวมเป็นไตรสิกขาตรงตัว คือ 1. การไม่ทำบาปทั้งปวง 2. การทำกุศลให้สมบูรณ์ 3. การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว 
2 ศาสนาอิสลาม
อิสลาม หมายถึง การยอมมอบตนตามประสงค์ของพระผู้เป็น เจ้าโดยสิ้นเชิง ผู้นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า "มุสลิม" แปลว่า ผู้ยอมมอบตนต่อพระเจ้า พระศาสดาของศาสนาอิสลาม คือ นบีมูฮำมัด (นบี หมายถึงผู้แทนพระอัลลอฮ์ หรือพระเจ้าของศาสนาอิสลาม) มูฮำมัด เป็นชาวอาหรับเผ่ากุรอยฮ์ในเมืองเมกกะ (ปัจจุบัน คือ ประเทศซาอุดิอาระเบีย)
ศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในดินแดนทะเลทรายอาหรับ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในยุคนั้นชาวอาหรับแตกแยกเป็นหลายกลุ่มขาดความสามัคคียากแก่การปกครอง มีการรบพุ่งฆ่าฟันกันตลอดเวลา ไม่มีศาสนาเป็นแก่นสาร คนส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าและรูปเคารพต่าง ๆ ประชาชนไม่มีศีลธรรม สตรีจะถูกข่มเหงรังแกมากที่สุด ภายใต้สภาพสังคมที่เสื่อมทรามเช่นนี้ นบีมูฮำมัด จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น
นบีมูฮำมัด เป็นผู้ฝักใฝ่ในทางศาสนา หาความสงบและบำเพ็ญสมาธิ ที่ถ้ำฮิรอบนภูเขานูร์ ในคืนหนึ่งของเดือนรอมฎอน ในคัมภีร์ทางศาสนาอิสลามกล่าวว่า กาเบรียลฑูตของพระเจ้า ได้นำโองการของอัลลอฮ์มาประทาน นบีมูฮำมัด ได้นำคำสอนเหล่านี้มาเผยแพร่จนเกิดเป็นศาสนาอิสลามขึ้น
ในระยะแรกของการเผยแผ่ศาสนา ได้ถูกต่อต้านเป็นอย่างมาก จนถึงกับถูกทำร้าย และได้หลบหนีไปอยู่เมืองมะดีนะฮ์ แต่ก็ยังเผยแผ่จนเป็นที่ยอมรับและมีคนนับถือมากมาย จึงได้กลับมาเมืองเมกกะ และทำการเผยแผ่ศาสนาอิสลามอย่างเต็มที่ การขยายศาสนาอิสลามออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุคหลังเป็นไปโดยการใช้สงครามเข้ายึดเมืองเพื่อเผยแผ่ศาสนา
คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม ได้แก่ คัมภีร์ อัล-กุรอาน ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป็นโองการของพระเจ้าหรืออัลลอฮ์ประทานผ่านทาง นบีมู ฮำมัด มีทั้งหมด 6,660 โองการ 114 ซูเราะห์ (บท) และเชื่อกันว่าโองการเหล่านี้ อัลลอฮ์ประทานมาเป็นระยะ ๆ ตามเหตุการณ์ใช้เวลาถึง 23 ปี จึงเป็นคัมภีร์อัล-กุรอานที่ประกอบด้วย หลักศรัทธา 6 ประการ คือ 1)ศรัทธาต่อพระเจ้า(อัลลอฮ์) 2) ศรัทธาต่อบรรดามลาอิกะ หรือเทวฑูต 3) ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ 4) ศรัทธาต่อบรรดารอซู้ล หรือศาสนฑูต (นบี) 5) ศรัทธาต่อวันสิ้นโลก 6)ศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวะการณ์ (ของพระเจ้า) โดยคำว่า " ศรัทธา " หมายถึง ความเชื่อถือ ความเลื่อมใส
สำหรับหลักปฏิบัติ มี 5 ประการ คือ 1)การปฏิบัติตน "ไม่มีพระเจ้าองค์ใด นอกจากอัลลอฮ์ และมูฮำมัด คือศาสนฑูตแห่งพระองค์" 2) การนมาซ หรือ ละหมาด มุสลิมต้องละหมาดวันละ 5 ครั้ง (ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ กลางคืน ) การละหมาดอาจทำที่ใดก็ได้ แต่ต้องหันหน้าไปทางเมืองเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย 3) การถือศีลอด 4) การบริจาคซะกาต 5) การประกอบพิธีฮัจญ์
ศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน มีชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามมากเป็นอันดับสอง รองจากศาสนาพุทธ มีองค์กรทางศาสนาที่ราชการรับรอง เรียกว่าสำนักจุฬาราชมนตรี โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุด มีโครงสร้างการบริหารเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการกลางอิสลามประจำมัสยิด ในแต่ละมัสยิด(สุเหร่า) มีอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ประเภทละ 1 คนรวม 3 คน เป็นผู้ปกครองดูแลสัปปุรุษ
3 ศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม (Monotheism) นับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ ยะโฮวา (Jehovah) เป็นผู้ทรงสร้างโลก สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในสากลจักรวาล เป็นผู้ประทานข้อบัญญัติแก่มนุษย์ โดยผ่านทางศาสดาพยากรณ์ (Prophets) และศาสนาฑูตตาง ๆ ในแต่ละยุค แต่ละสมัย เรื่อยมาตั้งแต่โมเสสถึงพระเยซู 
พระเยซูประสูติเมื่อปีพ.ศ.543 (เริ่มคริสต์ศักราชที่ 1) เป็นช่วงที่อาณา จักรโรมันเจริญถึงขีดสุดภายใต้การนำของพระเจ้าซีซาร์ ตามหลักฐานกล่าวว่า พระเยซู ประสูติที่เมืองเบธเลเฮม แคว้นยูดาย มารดาชื่อ มาเรีย บิดาชื่อ โจเซฟ เป็นคนเชื้อสายยิว อาศัยอยู่ที่เมืองนาซาเรธ ในสมัยนั้นมีคำทำนายว่า "กษัตริย์แห่งชนชาติยิวได้บังเกิดขึ้นแล้ว" กษัตริย์เฮร็อค ผู้ครองแคว้นยูดายทรงทราบจึงรับสั่งให้ประหารชีวิตเด็กชายที่เกิดในเมืองเบธเลเฮม ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น โจเซฟได้พาภรรยาและบุตรหลบหนี จนกระทั่งกษัตริย์เฮร็อคเสียชีวิตลง พระเยซูก็ เติบโตขึ้นและด้วยความสนใจใฝ่หาความรู้ทางศาสนา เมื่ออายุ 30 ปี ได้พบกับนักบุญจอห์น ผู้เผยแพร่ศาสนายิวและได้รับศีลจุ่ม (แบบติส) จากจอห์นที่แม่น้ำจอร์แดน นับแต่นั้นมาพระเยซูก็ได้ชื่อว่า พระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) 
พระเยซูคริสต์ เริ่มประกาศคำสอนโดยรับเอาความเชื่อศาสนายิวเป็น หลักปฏิบัติและเป็นคำสอนที่สำคัญอันหนึ่งเรียกว่า "เทศนาบนภูเขา" (Sermon on Mount) พระเยซูส่งสาวกออกไปเผยแพร่คำสอนอันถือเป็นพระวจนะของพระเจ้าจนได้รับความนิยมจากชาวยิว และเชื่อว่าพระเยซูเป็นเมสสิอาห์ ของยิว ต่อมานักบวชชาวยิวกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับพระเยซูถือว่ามาปฏิวัติศาสนาและเป็นผู้สร้างคำสอนใหม่ให้ศาสนา จึงพยายามหาทางกำจัดโดยกล่าวหาพระเยซูว่าพยายามซ่องสุมผู้คน เพื่อ กบฎชาวโรมันอันเป็นที่มาของการถูกทหารโรมันจับตรึงไม้กางเขนจนถึงแก่ชีวิต เมื่ออายุ 33 ปี โดยประกาศคำสอนได้เพียง 3 ปี เท่านั้น พวกสาวกที่เลื่อมใสพระเยซูก็ตั้งเป็นศาสนาใหม่ขึ้น เรียกว่า " ศาสนาคริสต์ "
คัมภีร์สำคัญของศาสนาคริสต์ เรียกว่า " คัมภีร์ใบเบิล " (The Holy Bible) ได้แก่ 1)คัมภีร์ใบเบิลเก่า (The Old Testament) กล่าวถึงประวัติศาสตร์ชนชาติยิวตั้งแต่สมัยอับราฮัมจนถึงสมัยก่อนพระเยซูคริสต์ 2) คัมภีร์ใบเบิลใหม่ (New Testament) กล่าวถึงเรื่องราวตั้งแต่พระเยซูประสูติ จนถึง ค.ศ.100 เป็นเรื่องราวชีวิตของพระเยซูคริสต์ และคำสั่งสอนเรื่องความเชื่อของชาวคริสต์
ศาสนาคริสต์แบ่งออกเป็น 3 นิกาย ได้แก่ 1)นิกายโรมันคาธอลิก (Catholic) 2)นิกายโปรเตสแตนท์(Protestant) 3) นิกายออร์โธด็อก (Orthodox) โดยมีหลักความเชื่อของศาสนาคริสต์ คือ 1) เชื่อว่าพระเยซูแห่งเมืองนาซาเรธเป็นศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ 2) เชื่อว่าพระเยซูแห่งเมืองนาซาเรธเป็นผู้สละชีวิตเพื่อไถ่บาปให้มนุษยชาติ 3) เชื่อว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพจริง 4)เชื่อในพิธีล้างบาป หรือศีลจุ่ม (Baptism) และพิธีศีลมหาสนิท (Communion) โดยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 5)เชื่อในวันพิพากษาว่า เมื่อตายจากชีวิตนี้แล้ว จะต้องไปรอรับคำพิพากษาเพื่อการลงโทษและการตอบแทนรางวัล
คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิกเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบันมีชาวไทยนับถือศาสนาคริสต์ ทั้งนิกายโรมันคาธอลิกและโปรเตสแตนท์ เป็นจำนวนมาก ทางราชการให้การรับรองเป็นองค์การศาสนาที่อยู่ในความอุปถัมภ์ ดังนี้
1) นิกายโรมันคาธอลิก มีศูนย์กลางอยู่ที่ นครวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี มีสันตะปาปา เป็นประมุขสูงสุด ในประเทศไทยมีฐานะองค์การทางศาสนาที่ทางราชการให้การรับรองชื่อว่า สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาธอลิก (Catholic Church Thailand) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 เขต มิซซัง ได้แก่ มิซซังกรุงเทพ มิซซังราชบุรี มิซซังจันทบุรี มิซซังสุราษฎร์ธานี มิซซังเชียงใหม่ มิซซังนครสวรรค์ มิซซังท่าแร่-หนองแสง มิซซังอุบลราชธานี มิซซังอุดรธานี และมิซซังนครราชสีมา 
2) นิกายโปรเตสแตนท์ เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีองค์การทางศาสนาที่ทางราชการรับรองดังนี้ 1) สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย (The Church of Christ in Thailand) 2) สหกิจคริสต์เตียนแห่งประเทศไทย(The Evangelical Fellowship of Thailand) 3) มูลนิธิคริสตจักรคณะแบ๊บติสท์ (Foreign Mission Boars) 4) มูลนิธิคริสตจักรวันเสาร์แห่งประเทศไทย (Seventh-day Adventist Church of Thailand)
ส่วนนิกายออร์โธด็อก ยังไม่มีการเผยแผ่มาสู่ประเทศไทย
4 ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาเดียวกัน โดยศาสนาฮินดูพัฒนามาจากศาสนาพราหมณ์และเกิดในยุคพระเวท พวกอารยันซึ่งเป็นพวกผิวขาวได้เดินทางมาจากตอนใต้ของรัสเซียเข้ามาขับไล่พวกดราวิเดียนซึ่งเป็นพวกผิวดำ และเป็นชนพื้นเมืองเดิมของพวกอินเดีย พวกดราวิเดียนบางพวกหนีไปอยู่ศรีลังกาและไปเป็นชนพื้นเมืองเดิมของ ศรีลังกา บางพวกได้สืบเชื้อสายผสมผสานเผ่าพันธุ์กับพวกอารยันกลายเป็นคนอินเดียในปัจจุบัน คนอารยันนับถือ พระอาทิตย์ ส่วนพวกชนพื้นเมืองเดิมนับถือไฟ พวกอารยันเห็นว่าความเชื่อของตนเข้ากันได้กับพวกดราวิเดียน จึงได้เผยแพร่ความเชื่อของตนโดยชี้ให้เห็นว่าดวงไฟที่ยิ่งใหญ่ นั้นคือดวงอาทิตย์ จึงควรนับถือพระอาทิตย์ซึ่ง เป็นที่มาของไฟทั้งปวงในโลกมนุษย์ทำให้แนวความคิดของชนพื้นเมืองเดิมกับพวกอารยันผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพราหมณ์- ฮินดู ได้เกิดขึ้นและเผยแผ่มาเป็นเวลานานตั้งแต่1,000 ปี ก่อนพุทธกาล ทำให้แนวคิดทางศาสน าแตกต่างกันมาก จึงแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ 3 ยุค คือ 
1) ยุคพระเวท ประมาณ 100 -1,000 ปี ก่อนพุทธกาล ได้เกิดคัมภีร์
พระเวทขึ้นประกอบด้วยคัมภีร์ 4 เล่ม คือ คัมภีร์ฤคเวท ใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า คัมภีร์ยชุรเวท ว่าด้วยระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายันและบวงสรวงต่าง ๆ คัมภีร์สามเวท ใช้สำหรับสวดในพิธีถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์ และขับกล่อมเทพเจ้า และ คัมภีร์อาถรรพเวท ใช้เป็นที่รวบรวมคาถาอาคม หรือเวทมนต์
2) ยุคพราหมณ์ ประมาณ 100 ปี ก่อนพุทธกาล 
3) ยุคฮินดู 
ตั้งแต่ พ.ศ. 700 เป็นต้นมา
ในตอนปลายยุคพระเวทอิทธิพลของพราหมณ์ได้ก้าวถึงจุดสูงสุด ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาพิธีกรรมมีความสลับซับซ้อนกลายเป็นสิ่งที่มีความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ทั้งนี้รวมไปถึงการแปลความหมายของคัมภีร์พระเวทและได้เกิดระบบวรรณะขึ้น 4 วรรณะ คือ 
1) วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า สั่งสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรมแก่ประชาชนทุกวรรณะมีหน้าที่ศึกษา จดจำและสืบต่อคัมภีร์พระเวท
2) วรรณะกษัตริย์
 ได้แก่พวกนักรบ ทำหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมือง และทำศึกสงคราม
3) วรรณะแพศย์ เป็นวรรณะของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้แก่ ผู้ประกอบพาณิชกรรม เกษตรกรรม
4) วรรณะศูทร เป็นวรรณะของพวกกรรมกรผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังมีพวกนอกวรรณะ ซึ่งเกิดจาก การแต่งงานข้ามวรรณะ เรียกว่า " จัณฑาล " ซึ่งเป็นที่รังเกียจของทุกวรรณะ
ในประเทศไทยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้เผยแผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิก่อนพุทธกาล ดังหลักฐานจากโบราณสถานที่ต่าง ๆ ในยุคขอมเรืองอำนาจ พิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยผสมกลมกลืนกับพิธีกรรมทางพระ พุทธศาสนา และเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีที่สำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ตราบถึงปัจจุบัน 
ศาสนาพราหมณ์มีองค์การทางศาสนาดูแลรับผิดชอบและเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักพระราชวัง คือ สำนักพราหมณ์พระราชครู มีสำนักงานอยู่ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร
สำหรับศาสนาฮินดูนั้น เป็นศาสนาของชาวอินเดียที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีองค์การทางศาสนา 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สมาคมฮินดูสมาซ 2)สมาคมฮินดูธรรมสภา ทั้งสองหน่วยงานตั้งอยู่ที่บริเวณเสาชิงช้า ด้านตะวันออกของวัดสุทัศน์เทพวราราม และซอยวัดดอน ยานนาวา กรุงเทพมหานคร
5 ศาสนาซิกข์
ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาที่มุ่งสอนให้มนุษย์ทำความดีละความชั่ว สอนให้พิจารณาที่เหตุ และให้ยับยั้งต้นเหต ุด้วยสติปัญญา ตำหนิในสิ่งที่ควรตำหนิ และชมเชยในสิ่งที่ควรชมเชย สอนมนุษย์รักกันฉันท์มิตรพี่น้อง รู้จัก ให้อภัยต่อกัน สอนให้เข้าใจถึงการทำบุญ และการทำทาน ให้ละเว้นบาปทั้งปวง สอนให้เราทั้งหลายทราบว่า ไม่มีสิ่งใดมีอนิสงส์เสมอภาวนา สรรพสิ่งทั้งมวลย่อมแตกดับตามกาลเวลา
ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ประมาณ 5 ศตวรรษกว่าล่วงมาแล้ว มีพระศาสดา นานักเทพ เป็นองค์พระปฐมบรมศาสดา ทรงประสูตร เมื่อ พ.ศ. 2012 ณ หมู่บ้านติวัลดี ปัจจุบัน คือประเทศปากีสถาน และมีพระศาสดาสืบทอดศาสนามาอีก 9 พระองค์ คือ พระศาสดาอังฆัตเทพ พระศาสดาอมรดาส พระศาสดา รามดาส พระศาสดาอรชุนเทพ พระศาสดาหริโควินท พระศาสดาหริราย พระศาสดาหริกริชัน พระศาสดา เตฆบหาฑรู พระศาสดาโควินทสิงห์ รวมทั้งสิ้น 10 พระศาสดา พระศาสดาโควินทสิงห์ ซึ่งเป็นพระศาสดา องค์สุดท้าย ได้บัญญัติให้ชาวซิกข์ยึดถือในธรรมะอย่างเดียว นับว่าเป็นการยุติการสืบทอดศาสนาโดยบุคคล อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่พระองค์ยังมีชนม์ชีพอยู่ พระศาสดาได้ลิขิตและรวบรวมไว้เป็นเล่มเรียกว่า " พระมหาคัมภีร์ อาทิครันถ์ " 
นอกจากนี้พระศาสดาโควินทสิงห์ ได้บัญญัติให้ชาวซิกข์ทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดดังนี้ 
ต่อจากพระองค์แล้ว จะไม่มีพระศาสดาเป็นบุคคลสืบต่อไปอีกเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะพระองค์ได้มอบพระโชติไว้ในพระคัมภีร์ อาทิครันถ์ แล้ว และได้อันเชิญพระคัมภีร์อาทิครันถ์ เป็นพระศาสดานิรันดร
พระคัมภีร์อาทิครันถ์ ที่เป็นพระศาสดานิรันดรของชาวซิกข์นั้น เป็นที่รวมคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า ( กรตาปุรุข ) ที่พระศาสดานำมาเผยแพร่ พระศาสดาโควินทสิงห์ ทรงมีรับสั่งชาวซิกข์ไว้ว่า ด้วยโองการของพระเจ้า กรตาปุรุข จึงได้จัดตั้งอาณาจักรมีบัญชาถึงชาวซิกข์ทุกคนให้ถึงองค์พระคัมภีร์อาทิครันถ์ เป็นพระศาสดานิรันดร ผู้ใดใคร่พบพระองค์ขอให้เปิดพบได้ในพระคัมภีร์อาทิครันถ์ เท่านั้น ผู้ที่เชื่อในพระคัมภีร์อาทิครันถ์ เท่ากับว่าได้เชื่อพระองค์โดยตรง ทั้งนี้เพราะคำสอนทั้งหมดที่จารึกไว้นั้น เป็นคำสั่งสอนและคำสัญญาของพระเจ้า กรตาปุรุข ทั้งสิ้น คำสอนนี้เป็นทั้งรูปและนามของพระองค์ ( กรตาปุรุข ) ผู้ใดระลึกถึงธรรมของพระองค์ พระองค์ก็ทรงประทับอยู่ด้วย ผู้ใดนับถือพระคัมภีร์อาทิครันถ์นี้แล้ว เท่ากับว่าได้บูชาในพระเจ้าแล้ว (กรตาปุรุข) และจะหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร พระธรรมเป็นสัญญาลักษณ์อมตะของพระเจ้า กรตาปุรุข
ดังนั้นชาวซิกข์ทุกคน กราบไหว้บูชา เคารพนับถือพระคัมภีร์อาทิครันถ์ เป็นพระศาสดานิรันดร จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 300 ปี และตลอดไปชั่วกาลนาน

รถไฟสายมรณะ

ประวัติรถไฟสายมรณะ

ทำไมสะพานข้ามแม่น้ำแคว จึงเป็นชื่อที่รู้จัดโด่งดังไปทั่วโลก มัมิใช่เพราะความอลังการ หรืองดงามตระการตาใด ๆ  หากแต่ คำตอบแท้จริง มันคือความโหดร้ายทารุณ ที่เกิดขึ้นในอดีต อันขมขื่น  ณ ที่แห่งนั้นต่างหาก  ที่เป็นเสน่ห์อันเร้าใจไม่มีวันจบสิ้น
     แต่ถ้าหาจะย้อนมองให้ลึกซึ้งลงไปอีก ความเศร้าสลดสยดสยอง ที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ ยากที่จะหาใดเสมอเหมือนได้นั้น แท้จริง มันอยู่บนเส้นทางรถไฟ ที่ทอดผ่านสะพานเข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้ ซึ่งมีระยะทางยาวไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ที่ใช้เวลาสร้างอันรวดเร็ว และสำคัญที่สุด ก็คือ ต้องสูญเสียชีวิตคนไปถึงหนึ่งแสนคน เจ็บป่วย และพิการ อีกหลายหมื่นคน เพราะความโหดร้ายทารุณ จนทางรถไฟสายนี้ ถูกเรียกว่า "ทางรถไฟสายมรณะ"
      ก่อนที่จะเป็นทางรถไฟสายมรณะ  วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  เนเธอร์แลนด์ และจีน หลังจากนั้นกองทัพอันมหาศาลของพระจักรพรรดิ ก็เคลื่อนพล แบบสายฟ้าแลบ บนน่านน้ำแปซิฟิก  กำลังทางอากาศจากเรือบรรทุก เครื่องบิน ได้บินขึ้นถล่มฐานทัพเรือใหญ่ของสหรัฐฯ  ที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ เกาะฮาวาย จนแหลกลาญ
     ขณะเดียวกัน กองทัพญี่ปุ่น ก็บุกขึ้นเกาะต่าง ๆ  อีกหลายแห่ง ทั้งชวา ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  มลายู  และอินโดจีน  ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  สำหรับไทย ญี่ปุ่น ได้ยื่นบันทึกต่อรัฐบาล เพื่อขอเดินทัพผ่าน เพื่อไปโจมตีนอังกฤษ ที่ตั้งฐานทัพ อยู่ที่มลายูและพม่า จึงขออย่าให้ไทยขัดวาง  โดยญี่ปุ่น ให้การรับรองว่า จะไม่ทำลายอธิปไตยของไทย
       แต่ในระหว่างเจรจาหาข้อตกลง กองเรือรบญี่ปุ่น ได้เคลื่อนเข้าอ่าวไทายแล้ว ในคืนวันที่  7  ธันวาคม  พ.ศ. 2484 และส่งหน่วยรบขึ้นบก ตลอดแนวฝั่งทะเล ด้านตะวันออกของไทย  การบุกรุกดินแดนแบบจู่โจม ทำให้เกิดการต่อสู้กัน อย่างนองเลือด ระหว่างหน่วยทหาร  ตำรวจ  และยุวชนทหารกับกองทัพทหารญี่ปุ่น ทุกจุดที่บุกขึ้นมา  มีการปะทะกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ปัตตานี  สงขลา  นครศรีธรรมราช  และประจวบคีรีขันธ์  ทำให้บาดเจ็บล้มตายกันมากมายทั้งสองฝ่าย

     จนถึงเวลา 6.50 น. ของวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่น ก็ได้ยื่นบันทึก ถึงรัฐบาลไทยอีก ซึ่งเป็นคำแถลงในสภาพิเศษของนายพลโตโจ  แม่ทัพญี่ปุ่น มีอยู่ ทั้งหมด  3  ข้อ  ในข้อที่  3  นั้นเกี่ยวโยงกับไทยโดยตรง คือ
  "รัฐบาลญี่ปุ่น ได้พยายามที่จะกระทำทุกทางแล้ว ด้วยสันติวิธี ในการเจรจา ที่กรุงวอชิงตัน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงจำเป็นต้องทำสงครามกัน และนอกจากนั้น ถ้าจะมองดูสงครามทางด้านยุโรปแล้ว จะเห็นได้ว่า สงครามได้ใกล้เข้ามา จะถึงอิรัก แะลอิหร่านอยู่แล้ว น่ากลัวว่าอาจลุกลามมาถึงประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้น พวกเราชาวเอเชีย จะต้องร่วมมือกัน เพื่อทำให้เอเชีย เป็นของคนเอเชีย บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่น ได้เตรียมสู้รบกับข้าศึกของเราแล้ว  ไม่ใช่จะมาต่อสู้กับคนไทยเลย ถึงแม้จะมีการต่อสู้กัน และกองทัพญี่ปุ่น ได้ผ่านประเทศไทยไปแล้ว ญี่ปุ่น ก็จะไม่ถือว่า ไทยเป็นข้าศึก แต่ถ้าหาว่า ไทยจะร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับญี่ปุ่นแล้ว  คำว่า เอเชียเป็นของคนเอเชีย ก็จะเป็นอันสำเร็จผลแน่ และประเทศไทย อันเป็นประเทศเอกราชอยู่แล้วนั้น ก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นของจากไทยคือ ขอให้กองทัพของญี่ปุ่น ผ่านผืนแผ่นดินไทยไป เท่านั้น  ทั้งนี้ ก็ด้วยความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงใคร่ของความสะดวก โดยขออย่าให้กองทัพทั้งสองต้องมารบกันเองเลย เพราะญี่ปุ่น ไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรู  จึงหวังว่า ไทยจะมีความสามัคคีร่วมมือกับญี่ปุ่น ในความจำเป็นครั้งนี้ กับขอให้จัดกำลังตำรวจ ระวังรักษาชาวญี่ปุ่น ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยทั่วไปด้วย"
      รัฐบาลไทย ได้เปิดประชุมด่วนอย่างเคร่งเครียด พิจารณาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนอกประเทศ และภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสู้รบตามแนวฝั่งทะเล ไทยมีแต่เสียเปรียบ ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจสั่งให้หยุดยิง และระงับการต่อสู้ทุกด้าน ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านได้ เมื่อเวลา 7.30 น. ของวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ.  2484ถึงรุ่งขึ้นกลางปี พ.ศ. 2485  ญี่ปุ่นก็ประสบชัยชนะในแปซิฟิก และเอเชียอาคเนย์ โดยสิ้นเชิง
       ระยะแรก ๆ  นั้น  ญี่ปุ่น ได้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงต่าง ๆ  จากสิงคโปร์ ผานช่องแคบมะละกา ไปยังเมาะละแหม่ง และร่างกุ้ง ประเทศพม่า แต่การลำเลียงทางทะเล ถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายพันธมิตร อยู่ตลอดเวลา ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงเป็นทางบก โดยการสร้างทางรถไฟ ให้เชื่อมต่อกัน จากสิงคโปร์ขึ้นมาทางสงขลา ถึงกรุงเทพฯ และผ่านไปกาญจนบุรี เพื่อเข้าพม่าทางเมาะละแหม่ง และร่างกุ้ง

     เป็นที่เปิดเผยต่อมาภายหลังว่า ญี่ปุ่นได้วางแผนไว้แล้วอย่างรอบคอบ และแยบยล ก่อนประกาศสงครามกับพันธมิตร เกี่ยวกับภูมิประเทศในแถบนี้ โดยญี่ปุ่นส่งสายลับ ปลอมตัวเข้ามาอยู่ในเมืองไทยในลักษณะของ ผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ  รวมทั้งเป็นพรานเบ็ด ในแม่น้ำแคว เพื่อวัดระดับ ความลึกของน้ำ และเป็นนักนิยมไพร เพื่อสำรวจเส้นทางวางรางรถไฟ พร้อมกับคำนวณ ตัวเลข จำนวนเงินที่จะใช้จ่ายในการสร้าง ปรากฏว่า สูงมากจึงชะลอไว้ก่อน แต่เมื่อมีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจสร้าง
      ขบวนรถไฟลำเลียงยุทธปัจจัย กำลังข้ามสะพานไม้ ซึ่งอยู่ใต้สะพานเหล็กลงมา จะเห็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสะพานเหล็กอยู่ทางด้านขวามือ ของภาพ และเป็นสะพาน ที่เหลือยู่ในทุกวันนี้  เชลยศึกออสเตรเลีย แบกไม้หมอน มาวางเรียง โดยมีทหารญี่ปุ่นยืนคุม 
     ทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ควบคู่ไปกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่เลื่องลือกระฉ่อนไปทั่วโลก  จึงเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2485 นั่นเอง  ก่อนลงมือสร้าง ญี่ปุ่นได้เสนอแผนการสร้างทางรถไฟ เริ่มจากชุมทางหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี แล้วต่อไปยังประเทศพม่า ทางด้านเมาะละแหม่ง ดังกล่าว ต่อรัฐบาลไทย ทางหัวหน้า คณะรัฐบาล คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการผสม ขึ้นมาพิจารณาเรื่องต่าง ๆ  ตามที่ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นเสนอมา ซึ่งคณะกรรมการ ประกอบด้่วย
พันเอก  เชย  พันธุ์เจริญ เป็นประธานในการสร้างทางรถไฟ
ร้อยโท  คำ  ปัทมาดิสต์ เป็นกรรมการฝ่ายทหาร
หม่อมหลวง ทองคำเปลว  ทองใหญ่ เป็นกรรมการฝ่ายทหาร
พันโท  หม่อมเจ้า พิสิษฐดิส  ดิสกุล
พันตรี หม่อมเจ้า ประเสริฐศรี  ชยางกูร  ประจำกองอำนวยการผสม
    คณะกรรมการฝ่ายไทย และฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น ได้เปิดประชุึมกัน ครั้งแรก ในวันที่  8 สิงหาคม  พ.ศ. 2485  ผลสรุปออกมา กองทัพญี่ปุ่น ของสร้างทางรถไฟเอง ขอให้ไทยอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร  แต่ฝ่ายไทยแย้งว่า ขอเป็นฝ่ายสร้างเอง โดยให้ญี่ปุ่นส่งวัสดุที่จะใช้ในการสร้างให้ไทย และมีข้อแม้ว่า ภายหลังการวางรางเสร็จแล้ว ขอมิให้กองทัพญี่ปุ่นเรียกคืนไป

     จากนั้น ก็มีการประชุมกันอีก  ซึ่งการเจรจา ได้พูดถึงรายละเอียดมากมาย พลตรี เซจิ  โมริยา  นายทหารหัวหน้าผู้แทนฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น ได้กล่าวเน้นว่า ญี่ปุ่น มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการรบต่อไปอีก ดังนั้น การสร้างทางรถไฟไทย - พม่า จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยืนยันจะขอสร้างเอง เพื่อให้รวดเร็ว เพราะญี่ปุ่น มีวิศวกรที่ชำนาญกว่า และให้สัจจะว่า ทางสายนี้ กองทัพพระจักรพรรดิ จะสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา  1  ปี
     แต่ปัญหาที่ติดตามมาก็คือ การสร้างทางรถไฟ จะต้องกระทบกระเทือน ต่ประชาชน ที่ทางรถไฟพาดผ่านไป เพราะญี่ปุ่นทำโดยความรวดเร็ว อาจไม่คำนึง ถึงผลกระทบต่อคนไทยที่รัฐบาลรับผิดชอบ เรื่องนี้ญี่ปุ่นยอมรับ และบอกว่า เมื่อจำเป็น ก็ต้องจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทน
      การเจรจายังหาข้อยุติไม่ได้ ฝ่ายไทยจึงเสนอให้แบ่งตอนกันสร้าง โดยไทย จะเริ่มสร้างจากชุมทางหนองปลาดุก ไปถึงกาญจนบุรี จากนั้น ต่อไปถึง เจดีย์สามองค์ ให้ญี่ปุ่นสร้าง ญี่ปุ่นแย้งว่า การแบ่งตอนกันสร้างนั้น ถ้าได้ลงมือทำงานกันจริง ๆ  แล้วจะลำบากและขลุกขลักมาก ไทยจึงไม่จำเป็น ต้องสร้างก็ได้ เป็นแต่ช่วยเหลือในการเวนคืนที่ดิน เครื่องมือและอุปกรณ์ก็พอ เรียกว่าร่วมมือกัน ไทยตอบว่า หาญี่ปุ่นทำเกรงว่า จะพูดกับทางงานฝ่ายช่าง ไม่รู้เรื่อง ดังนั้น ให้ไทยทำช่วยตอนที่ง่าย ๆ  ส่วนตอนยาก ๆ  ก็ให้ญี่่ปุ่นทำไป
     ญี่ปุ่นอ้างว่า ที่จะไปทำนั้น มีทหารญี่ปุ่นมาก เชลยก็มาก เกรงกว่า จะมีเรื่องกัน ไทยว่า เรื่องนี้ จะคอยดูแลราษฎรไม่ให้ไปเกิดการโต้เถียงกัน แต่เรื่องที่ญี่ปุ่น จะไปเที่ยวขุดดินในที่ของเขาเหล่านั้นไปถมทางรถไฟ ปัญหาใหญ่ต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะเป็นทั้งที่นาและบ้าน จึงควรจะให้ไทยทำตั้งแต่หนองปลาดุก ถึงกาญจนบุรี ตามที่เสนอไปแล้ว จากนั้นให้ญี่ปุ่นสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว และทำทางรถไฟ ต่อไป ก็น่าจะหมดปัญหา ญี่ปุ่นยังไม่แน่ใจถามว่า แล้วไทยจะสร้างเสร็จภายใน 1 ปี หรือ  ไทย...รับรองเสร็จแน่  ญี่ปุ่น..60 กิโลเมตร ที่จะรับไปทำนั้น ขอให้อยู่ภายใต้ บังคับบัญชาของญี่ปุ่นได้หรือไม่  ไทย... ขอให้ยอมรับในหลักการก่อนว่า จะยินยอม หรือไม่ ส่วนการบังคับบัญชานันเราจะจัดการต่อให้เรียบร้อย  ญี่ปุ่น..อยากรู้ว่า จะให้ใครสร้าง  ไทย... เอาใครสร้างนั้น ไม่ต้องถาม สร้างให้เสร็จก็แล้วกัน
      การเจรจา ญี่ปุ่นตกลงยอมรับข้อเสนอของไทย โดยตกลงว่า งานที่ฝ่ายไทยทำ คือ พูนดินแนวทางที่จะวางรางรถไฟ จากชุมทางหนองปลาดุก ถึงแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนการวางรางเหล็กนั้นเป็นของญี่ปุ่น  ภายหลังตกลงกันได้ จึงมีการสำรวจร่วมกัน ระหว่างวิศวกรไทย และญี่ปุ่น ฝ่ายไทยมีนายชาติชาย  จันทรโปรย นายช่างทางสาย กาญจนบุรี และ ม.ร.ว. ปราณเนาวศรี เนาวรัตน์ นายช่างผู้ช่วยกองแบบแผน ส่วนฝ่ายญี่ปุ่น มีร้อยตรี คาวาซากิ  เป็นหัวหน้าคณะ เริ่มออกเดินทางสำรวจ ในวันที่  20  เมษายน  พ.ศ. 2485  ด้วยขบวนรถไฟจากหัวลำโพง เวลา 7.40 น. ไปลงที่ สถานีบ้านโป่ง แล้วใช้รถยนต์ต่อไปจนถึงกาญจนบุรี จากนั้น ก็ทำการสำรวจ ไปจนถึงไทรโยค ต้นแม่น้ำแม่กลอง
    ทางรถไฟสายมรณะ ไต่ไปตามหน้าผา ริมแม่น้ำแควใหญ่ อย่างหวาดเสียว  หลายแห่งของทางรถไฟ ต้องข้ามเหวไป ในสภาพที่เห็นในภาพนี้ 
การสำรวจครั้งที่  2  โดยคณะสำรวจชุดเดิม ตั้งแต่วันที่  28  เมษายน  พ.ศ. 2485 ครั้งนี้ได้เดินทางไปจนถึงชายแดนไทย - พม่า และต่อมาอีกหลายครั้ง ได้มีการนัดหมายพบกัน ระหว่างฝ่ายไทยกับทหารญี่ปุ่น ซึ่งสร้างทางรถไฟ ในเขนพม่า  โดยเดินทางเข้ามาทางเมืองเมาะละแหม่ง ถึงสังขละ ซึ่งการเดินทาง ครั้งนี้ ญี่ปุ่นทางพม่ามีนายทหาร 5 นาย ใช้ช้าง 5 เชือก ควาญประจำช้างอีก 8 คน และมีคนนำทางเป็นคนไทย
     เมื่อการสำรวจเป็นที่เรียบร้อย ทางรถไฟสายมรณะ ก็เริ่มขึ้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485  โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายวางรางเหล็กไปตามแนวบนพูนดิน ที่ไทยสร้างจาก สถานีชุมทางหนองปลาดุก ถึงท่ามะขาม  อำเภอเมือง  กาญจนบุรี ระยะทาง  55  กิโลเมตร  ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำ สร้างทั้งสะพานไม้และสะพานเหล็กไปพร้อม ๆ  กัน ทั้งรางและสะพานไม้ใช้เวลาสร้าง 4 เดือน สามารถให้รถไฟเดินทางเป็นครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2486  จนถึงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน สะพานที่เป็นเหล็ก จึงสร้างเสร็จ
ทางรถไฟสายมรณะ นับจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว ญี่ปุ่นสร้างต่อไปที่เขาปูน 2 กิโลเมตร ต่อไปยังบ้านเก่า ระยะทาง 31 กิโลเมตร ไปท่ากิเลน 8 กิโลเมตร ไปวังสิงห์ 12 กิโลเมตร ไปลุ่มสุ่ม 2 กิโลเมตร ไปวังโพ 4 กิโลเมตร ไปช่องแคบ 7 กิโลเมตร ไปท่าเสา (ซึ่งเป็นแคมป์เชลยศึก เรียกแคมป์ท่าเสา ต่อมาเรียกสถานีน้ำตก) 9 กิโลเมตร ไปไทยโยคใหญ่ 38 กิโลเมตร ไปลิ่นถิ่น 13 กิโลเมตร ไปบ่อน้ำร้อน หินดาด 17 กิโลเมตร ไปท่าขนุน (ทองผาภูมิ) 20 กิโลเมตร ไปเกริงไกร 32 กิโลเมตร ไปกุงกุย 12 กิโลเมตร ไปแก่งกล้วย 32 กิโลเมตร แล้วไปเชื่อมต่อกับ ทางรถไฟจากเมาะละแหม่ง ที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ รวมเส้นทางที่ญี่ปุ่น เป็นฝ่ายสร้าง 239 กิิโลเมตร  ถ้ารวมทั้งหมดของทางรถไฟที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งแต่ หนองปลาดุก ถึงสุดปลายทาง มีความยาว 294 กิโลเมตร

การใช้แผนที่

ความหมายแผนที่
แผนที่คือแปลนของแผ่นดินรอบตัวเราแผนที่ให้ข้อมูลแก่เราหลายอย่าง แผนที่อาจแสดงถนนในเมืองหรือหมู่บ้านและชนบท แผนที่ขนาดเล็กมักแสดงประเทศ ทวีป หรือโลกในภาพรวม
ซีกโลกตะวันตก
ซีกโลกตะวันออก
ซีกโลกเหนือ
ซีกโลกใต้

ลองวัดระยะใด ๆ ก็ได้บนแผนที่และเปรียบเทียบกับมาตราส่วนที่กำกับไว้ว่า 1 : 50,000หมายความว่า 1 เซนติเมตร บนแผนที่จะเท่ากับ 50,000 เซนติเมตร (0.5 กิโลเมตร) บนผิวโลก แผนที่ทางการเมืองแสดงประเทศหรือรัฐและเส้นแบ่งเขตแดน แผนที่ทางกายภาพ แสดงภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ ทะเลทราย และป่าไม้ เราอาจใช้แผนที่แสดงภูมิศาสตร์ การเพาะปลูก ภูมิอากาศ ประชากร หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ และแสดงสัญลักษณ์ที่ใช้แทนลักษณะบนแผนที่
วิธีใช้แผนที่
แอตลาส (Atlas) คือหนังสือแผนที่ แผนที่ให้ข้อมูลแก่เราหลายอย่างโดยใช้สี สัญลักษณ์ และเส้น ซึ่งจะบอกความหมายต่างๆ ไว้ มาตราส่วนที่กำกับจะช่วยให้หาระยะทางที่ปรากฏบนแผนที่ที่สัมพันธ์กับระยะทางจริง

แผนที่อาจแสดงให้เราทราบลักษณะของแผ่นดิน รวมทั้งภูเขาและหุบเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ และชายฝั่งทะเล ทะเลที่อยู่ใกล้เคียงและมหาสมุทร แผนที่ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ โดยแสดงพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายแห้งแล้ง และเป็นป่าเขตร้อน เราจะหาชื่อของทวีป ประเทศ ภูมิภาค และเขตบริหารได้ เช่น รัฐ จังหวัด มณฑล นอกจากนี้ยังบอกชื่อนครและเมืองสำคัญๆ รวมถึงเมืองหลวงด้วย



ระบบ GPS สำรวจพื้นโลกจากดาวเทียม
กระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ดํ าเนินการโครงการ Global Positioning System หรือ "GPS" ขึ้น ซึ่ง GPS จะใช้ดาวเทียมจํานวน 24 ดวง โคจรอยู่ในระดับสูงที่พ้นจากคลื่นวิทยุรบกวนของโลกและวิธีการที่สามารถให้ความถูกต้อง เพียงพอที่จะใช้ชี้บอกตําแหน่งได้ทุกแห่งบนโลกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 
ปัจจุบันมีการนํา GPS มาใช้งานในหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานสํารวจ อาทิเช่น ภูมิศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช ?GPS ในการสํารวจภูมิประเทศ เพื่อทําแผนที่ด้วย ซึ่งการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศในส่วนการศึกษาตัวเมือง ภาพถ่ายดาวเทียมถูกนำมาใช้ในการศึกษาพื้นที่ในระดับจังหวัด ระดับภาคหรือระดับประเทศ ใช้ทำแผนที่แสดงอาคารในพื้นที่ชุมชนในอนาคต และพัฒนาการสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำแผนที่ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพของพื้นที่ศึกษา ประกอบกับเทคโนโลยีการสำรวจรังวัดดาวเทียมระบบ GPS (Gobol Positioning System)
ที่มา:www.natty/map/gps_map.htm